ผลข้างเคียงจากการรับประทานยารักษาสิวกลุ่ม "กรดวิตามินเอที่เข้มข้น"

เพื่อนๆเคยสังเกตกันไหมว่า ก่อนที่แพทย์จะทำการจ่ายยาสำหรับรับประทานเพื่อรักษาสิวนั้น แพทย์จะต้องสอบถามข้อมูลสุขภาพของเรา ในหลายๆแง่มุม รวมถึงพิจารณาปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การตั้งครรภ์ หรือมีภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากตัวยารักษาสิวเหล่านี้สังเคราะห์มาจาก “กรดวิตามินเอที่เข้มข้น” ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่ยับยั้งสาเหตุหลักของการเกิดสิวโดยตรง นั่นคือ ลดการทำงานของต่อมไขมันทำให้สามารถผลิตสารที่เป็นไขมัน (sebum) ได้น้อยลง ทำให้ปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (P. acnes) ลดลงไปด้วย รวมถึงยังช่วยในการยับยั้งการสร้างคอมีโดน (comedone) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวอุดตัน ซึ่งการรักษาด้วยยาชนิดนี้ ให้ผลที่ดีในการรักษาสิวหากกินยาอย่างต่อเนื่อง และถ้าเรามีความจำเป็นที่จะต้องกินยารักษาสิวติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดนั้น เราก็ควรที่จะศึกษาผลข้างเคียงและวิธีการดูแลตัวเองให้ดีเสียก่อน

ยารักษาสิวกลุ่ม “กรดวิตามินเอที่เข้มข้น” เหมาะกับใครบ้าง?

เนื่องจากกรดวิตามินเอชนิดรับประทาน (isotretinoin) ออกฤทธิ์รักษาสิวโดยยับยั้งทุกกลไกในการเกิดโรค จึงเป็นยาที่ใช้ได้ผลดีมากในการรักษาสิว แต่เนื่องจากตัวยาที่มีผลข้างเคียงสูง แพทย์จึงต้องพิจารณาที่จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มและมีความเสี่ยงต่ำที่สุดเท่านั้น เราลองมาดูกันว่ามีคนกลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่เหมาะสมกับการรักษาสิวด้วยยาประเภทนี้:
– ผู้ที่เป็นสิวรุนแรงมาก
– ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาชนิดอื่น ๆ มาแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น
– ผู้ที่ต้องการลดการเกิดแผลเป็นในสิวชนิดรุนแรง
– ผู้ที่เป็นสิวรุนแรงปานกลาง แต่วงจรของสิวก็ยังกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ
– ผู้ป่วยมีความเครียดอย่างมากจากการเป็นสิว
โดยทั่วไปนั้นการใช้ยาชนิดนี้ อาการจะเริ่มดีขึ้นหลังจาก 1 เดือนเป็นต้นไป หลังจากเริ่มต้นรับประทานยา ซึ่งผู้ใช้ยาอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาสิวชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะยาทาภายนอก เนื่องจากผลข้างเคียงของยาจะทำให้ผิวหนังแท้หลุดลอก และ บางลง จึงทำให้ผิวหนังแท้ไม่สามารถทนต่อการใช้ยาทาชนิดอื่นๆได้นั่นเอง
นอกจากนั้น แพทย์จะพิจารณาการจ่ายยารักษาสิว โดยคำนึงถึงน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ขนาดยาที่ใช้ ได้แก่ 0.5 – 1.0 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยจะแบ่งให้รับประทานวันละสองครั้ง จนครบจำนวน 120 – 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน) ซึ่งการให้กินยารักษาสิวในปริมาณที่น้อยกว่าดังกล่าวอาจให้ผลการรักษาใกล้เคียงกัน แต่หากเราหยุดรับประทานยาก็จะพบว่า โอกาสที่สิวจะกลับมานั้นมีสูงถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว

ผลข้างเคียงของการรับประทานยารักษาสิวกลุ่มนี้ ได้แก่

– พบว่าผู้ป่วยที่กินยารักษาสิวอย่างต่อเนื่อง มีอาการผิวแห้ง ปากแห้ง และตาแห้ง ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยเกือบทุกราย โดยเฉพาะถ้าให้ยาในปริมาณสูง สำหรับผิวและริมฝีปากผู้ป่วยควรทาครีม หรือสีผึ้งวาสลีน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการ ในผู้ป่วยที่สวมใส่เลนส์สัมผัส (Contact Lenses) ควรงดสวมชั่วคราวในระหว่างการใช้ยานี้ หรือหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ
– ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 15 พบว่ามีอาการปวดเมื่อยบริเวณหลังและกล้ามเนื้อ
– ยาชนิดนี้ สามารถก่อให้เกิดความพิการอย่างรุนแรงต่อทารกในครรภ์ได้ เมื่อให้ยานี้ในผู้ป่วยสตรีมีครรภ์หรือตั้งครรภ์ในระหว่างที่รับยา แพทย์จึงต้องเน้นย้ำให้ผู้ป่วยคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัดในช่วงที่รับการรักษา และภายหลังหยุดยาไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือนจึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้
– ผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร และบางรายมีตับอักเสบได้ แต่พบไม่บ่อย
– ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด ผู้ป่วยร้อยละ 25-45 พบว่ามีปริมาณไขมันไตรกลีเซอร์ใรด์ (Triglyceride) สูงขึ้น และผู้ป่วยร้อยละ 31 อาจมีปริมาณไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือดเพิ่มขึ้น
– อารมณ์แปรปรวนและซึมเศร้า แต่พบได้ไม่บ่อย
– ความผิดปกติของกระดูกในระยะยาว ซึ่งพบได้น้อยมาก
– แผ่นกระดูกปิดก่อนกำหนด มีผลให้กระดูกจะสั้นกว่าปกติ จึงไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ข้อแนะนำเพิ่มเติมก่อนใช้ยากลุ่มนี้: เราควรเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับไขมันในเลือด ตรวจนับเม็ดเลือด (Complete Blood Count) และตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test) ไว้ก่อน และตรวจติดตามผลอีกครั้งหลังใช้ยาไปแล้ว 4 และ 8 สัปดาห์ เพื่อประเมินระดับไขมันที่สูงขึ้น และความผิดปกติของตับที่อาจเกิดขึ้นได้

การกินยารักษาสิว จำเป็นหรือไม่อย่างไร?

การตอบสนองต่อการรักษาสิว โดยทั่วไปนั้น สิวจะเริ่มดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 2-3 เดือนหลังการรักษา และจะดีขึ้นมากในเวลา 4 – 8 เดือน เมื่อสิวดีขึ้นมากแล้วควรใช้กรดวิตามินเอชนิดทา ทาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการสร้างคอมีโดน (comedone) ใหม่ ลดการกลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากสิวเป็นโรคเรื้อรังและเกิดขึ้นได้ตลอด นอกจากการใช้กรดวิตามินเอชนิดทา หลังสิวหายแล้ว ยังสามารถรักษาด้วยการฉายแสง ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยอย่าง IPL หรือ Laser ที่ได้ผลดีในเวลาอันรวดเร็วสิว และสามารถลดรอยแผลเป็นจากสิวให้จางลงได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งที่จริงแล้วการใช้นวัตกรรมแสงทั้ง IPL และ Laser สามารถช่วยให้สิวหายได้เร็วกว่าการกินยารักษาสิวโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงและทำให้ให้ตับต้องทำงานหนักเลยด้วยซ้ำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *