วงจรการผลัดเซลล์ผิว (skin cell turnover) ของร่างกายมีระยะเวลา 16-21 วันในแต่ละช่วง การผลัดเซลล์ผิวจะเกิดขึ้นบริเวณส่วนบนสุดของผิวหนังชั้นกำพร้า (epidermis) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นนอกสุดของร่างกาย เราเรียกเซลล์ที่หลุดลอกนี้ว่า “ขี้ไคล” หรือชื่อในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สเตรตัม คลอเนียม” มีลักษณะซ้อนทับกัน 15-20 ชั้น และมีเคราตินเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงให้ผิว และทำให้ผิวยืดหยุ่น สามารถจัดเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้
ชั้นผิวหนังจะหนาหรือบางจึงขึ้นอยู่กับชั้นของเคราตินนี้ด้วย เซลล์สเตรตัม คลอเนียม ซึ่งต่อไปเราจะเรียกในชื่อสามัญว่า “ขี้ไคล”นี้ จะยึดติดกันด้วย “คอร์นีโอเดสโมโซม” ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเซลล์ไม่ให้หลุดออกจากกัน เมื่อผิวครบวงจรการผลัดเซลล์ผิว หรือได้รับความเสื่อมสภาพจากปัจจัยเร่งเร้าภายนอก อาทิ แสงแดด การอักเสบของผิว ควันบุหรี่ สารเคมี หรือมลพิษ ฯลฯ ร่างกายจะผลิตเอนไซม์ช่วยในการทำลายสะพานเชื่อมเซลล์นี้ และส่งผลให้มีการหลุดลอกของเซลล์ในลำดับต่อไป ในปัจจุบันเราจะพบว่าสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษนั้น ส่งผลให้เซลล์มีการหลุดลอกช้าลง โดยผู้ที่มีสภาพผิวมันจะเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหานี้เป็นหลัก เนื่องจากน้ำมันบนผิวหน้าจะส่งผลให้เซลล์ผิวเหล่านี้เกาะกันแน่นจนเกินไป หรือแม้แต่อายุที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้วงจรการผลัดเซลล์ผิวช้าลงเช่นกันได้เช่นกัน
โดยปัญหาที่เกิดจากการผลัดเซลล์ผิวที่ช้าลงจะเกิดผลเสียดังนี้
ใบหน้าหมองคล้ำ
สีผิวไม่สม่ำเสมอ ปรากฏจุดด่างดำบนใบหน้า ทำให้สภาพรวมบนใบหน้าเหมือนคนสูงวัย เนื่องจากเซลล์ผิวที่หมดอายุแล้วตกค้างสะสมบนใบหน้า จึงทำให้กระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ชะลอตัวลง
การล้างหน้าไม่สะอาด
ทำให้เกิดสิ่งอุดตันแปลกปลอมบนผิว ร่วมกับน้ำมันที่ขับออกมาทางรูขุมขนเคลือบผิวหน้าไว้ การผลัดเซลล์ผิวให้หลุดออกไปจึงทำได้ยาก ส่งผลให้เกิดปัญหารูขุมขนกว้างจากสิ่งอุดตันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุผลในข้อบน เมื่อรูขุนขนกว้างในบางครั้งอาจเกิดการอักเสบบริเวณรูขุมขนกลายเป็นปัญหา ขนคุด หรือในกรณีที่สิ่งอุดตันนั้นมีแบคทีเรียร่วมด้วยก็อาจเป็นปัญหา “สิวอักเสบ” ขึ้นมาได้เช่นกัน สิ่งที่ตามมาคือเราจะสามารถสังเกตเห็น “สิวอุดตัน” ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดดำ แข็ง และเมื่อกำจัดออกไม่ถูกวิธีก็อาจนำมาซึ่งปัญหา “หลุมสิว” อีกด้วย
ปัญหาผิวหน้าลอกจากการที่เซลล์ผิวผลัดเซลล์ผิวไม่สม่ำเสมอ
ทำให้ผิวอาจเกิดภาวะแห้งกร้านจากสภาวะแวดล้อมภายนอก และหลุดลอกออกบางส่วน โดยการหลุดลอกนี้อาจนำมาซึ่งอาการแทรกซ้อน เช่น อาการคัน และเชื้อราได้ และการผลัดเซลล์ผิวที่ไม่สม่ำเสมอนี้เองทำให้การบำรุงผิวจะไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจาก ครีม/เซรั่มที่ทาลงบนผิวนั้นจะถูกยึดติดอยู่บริเวณผิวที่เสื่อมสภาพก่อน ไม่สามารถซึมได้ถึงผิวชั้นใน บางครั้งเราจึงสงสัยว่าครีมบำรุงผิวที่เราใช้นั้น จึงไม่สามารถแก้ปัญหา/ตอบโจทย์บนใบหน้าของเราได้เลย
ในเมื่อการผลัดเซลล์ผิวหน้าของเราไม่สามารถรอได้อีกต่อไป ผู้เขียนจึงมี 2 วิธีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลัดเซลล์ผิวหน้า ให้ผิวหน้ากลับมากระจ่างใส เผยผิวที่แข็งแรง ช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย และ ชะลอต้นเหตุของริ้วรอยก่อนวัยได้อีกด้วย วิธีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลัดเซลล์ผิวจึงประกอบด้วย
การผลัดเซลล์ผิวโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ หรือ ใช้วิธีทางกายภาพ (Mechanical peeling) เริ่มตั้งแต่การขัดบริเวณ หน้า และลำตัวด้วย ใยบวบ หินขัดตัว ผ้าขนหนู การสคับผิวด้วย ผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำตาล เกลือ กาแฟ อัลมอนด์ หรือวัสดุสังเคราะห์ ได้แก่ เม็ดสครับจากโพลีเอททีลีน ไปจนถึงการกรอผิวหน้าด้วยเกร็ดอัญมณี อย่างไรก็การการสครับผิวนั้น เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองค่อนข้างมากจากผลิตภัณฑ์ที่นำมาสคับอาจมีเหลี่ยม มุม ที่บาดผิว หรือการผลัดเซลล์ผิวอาจเป็นไปโดยไม่สม่ำเสมอ
ข้อควรระวัง: การขัดผิวหน้าไม่ควรทำเกิน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สครับที่นำมาขัดบริเวณผิวหน้าควรละเอียดกว่า สครับสำหรับขัดผิวกาย งดการสครับผิวบริเวณที่เป็นสิวอักเสบ หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัดโดยตรงเป็นเวลา 1-2 วัน และทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ ควรบำรุงผิวด้วยมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ทุกครั้งเพื่อป้องกันผิวแห้งกร้านจากการสูญเสียน้ำใต้ผิวหน้า อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่ใช้ในการขัดผิวไม่ควรเกิน 10-15 นาที เพราะอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่มากเกินไป
การผลัดเซลล์ผิวโดยใช้สารเคมี (Chemical peeling)
การผลัดเซลล์ผิวด้วยวิธีนี้จะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บบนผิวได้น้อยกว่า แต่ควรคำนึงถึงสารเคมีที่จะนำมาใช้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากหากมีอาการแพ้ต่อสารเคมีดังกล่าวก็อาจได้ผลในทางที่กลับกัน สารเคมีที่นิยมนำมาผลัดเซลล์ผิว หรือที่เราเรียกว่า “ลอกผิว” ซึ่งเป็นที่นิยมได้แก่ AHA (Alpha Hydroxy Acid) BHA (Beta Hydroxy Acid) และ TCA (Trichloroacetic Acid)
– สาร AHA โดยมากจะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ อาทิ Malic acid, Citric acid, Lactic acid, Glycolic acid etc. กรด AHA ที่นิยมมากที่สุดคือ Glycolic acid เพราะมีขนาดโมเลกุลเล็ก สามารถซึมผ่านเข้าสู่ผิวชั้นหนังแท้ ได้ง่าย จึงสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ดี
– BHA มีฤทธิ์ให้เซลล์เคราตินที่แข็งกระด้าง ลอกหลุดได้เร็ว โดยผลข้างเคียงจะมีอาการระคายเคือง และผิวลอกเป็นขุยได้ง่าย นิยมนำมาใช้ในการลอกหูด หรือฝ้ากระ เป็นต้น สารที่นิยมได้แก่ กรดซาลิกไซลิก (salicylic acid) ที่ได้จากพริก
– TCA นี้ใช้ได้ผลดีกับริ้วรอยและฝ้ากระที่ไม่มากเกินไป ประสิทธิภาพการรักษาจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นที่ใช้ ในกรณีที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาสิว นิยมใช้ความเข้มข้นไม่เกิน 20% แต่หากต้องการแก้ปัญหาหลุมสิว ควรใช้ความเข้มข้นที่ 50% จะช่วยทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ตามที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า ควรหลีกเลี่ยงวิธีการลอกผิวหน้า หรือผิวกาย เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ซึ่งการใช้ chemical peeling สามารถตอบโจทย์บุคคลผู้มีปัญหาสิวนี้ได้นะคะ ในลำดับแรกควรตรวจสภาพผิวพื้นฐานเราก่อนว่าเป็นแบบใด ถ้าผิวแห้ง ผิวแพ้ง่าย ผิวระคายเคืองง่าย ควรหลีกเลี่ยงสารกลุ่มนี้ไปเลยค่ะ แต่ถ้าผิวธรรมดา ผิวมันหรือ ผิวผสม ควรใช้ AHA ทาในบริเวณทั่วๆไป และตามด้วย BHA ทาเฉพาะจุดที่มีสิวอุดตัว สิวอักเสบ ทั้งนี้ควรสังเกตผิวหน้าของตนเองว่ามีอาการระคายเคือง ลอก แห้ง แดง หรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวควร ทาวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน หรือหยุดการใช้และพบแพทย์ผิวหนังเพื่อให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง