เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยกลางคน หรือผู้ที่มีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 30 ปีขึ้นไป พบว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ใส่ใจด้านอาหารที่รับประทาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่ายกายที่เห็นได้ชัด อาทิ ระบบเผาผลาญลดลง น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงผิวหน้าผิวกายที่เริ่มมีริ้วรอยบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสิ่งที่กลับแสดงอย่างเด่นชัดบนใบหน้าของเรากลับกลายเป็นปัญหาเรื่อง “ฝ้า (Melasma หรือ Cholasma)” ฝ้าที่เรากล่าวถึงนี้จะมีลักษณะ เป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลเข้ม บางครั้งมีสีออกดำอมฟ้า หรือสีแดง พบการขยายวงกว้างบริเวณโหนกแก้มมากกว่าที่อื่นบนใบหน้า ในบางครั้งเราอาจพบกระ ซึ่งเป็นจุดเล็กๆสีน้ำตาลกระจายอยู่ร่วมด้วย
ลักษณะของฝ้าบนใบหน้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
ฝ้าลึก (Dermal type) – เกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังแท้ใต้หนังกำพร้า มีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีเทาอมฟ้า มีขอบเขตของฝ้าไม่ชัดเจน โดยมากเราจะสังเกตได้ว่าฝ้าชนิดนี้จะกลืนไปกับผิวหน้าเป็นบริเวณกว้าง
ฝ้าตื้น (Epidermal type) – เกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังกำพร้า มีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีเทาดำ และสามารถเห็นขอบเขตได้ชัดเจน
ฝ้าผสม (Mix type) – ฝ้าที่มีการผสมกันระหว่างฝ้าลึก และฝ้าตื้นบนใบหน้า
นอกจากลักษณะของฝ้าที่กล่าวมาแล้วนั้น เรายังสามารถพบ “ฝ้าเลือด” หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Vascular melisma หรือ Telangiectetic melisma ฝ้าเลือดดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดฝอยบนผิวหน้า อันเป็นผลมาจากการใช้เครื่องสำอาง หรือยา ที่มีส่วนผสมของ ไฮโดรควินิน หรือเสตียรอยด์ ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยแตกและมีเลือดกระจุกบริเวณพังผืดใต้ผิวหนังชั้นลึก โดยจะมีสีน้ำตาลแดง จัดเป็นฝ้าที่รักษายากอีกชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ในเพศหญิงจะพบการเกิดฝ้าได้มากกว่าเพศชายถึง 80% ดังนั้นเราจะพาทุกท่านไปหาคำตอบพร้อมๆกันถึงสาเหตุของการเกิดฝ้า และวิธีป้องกันการเกิดฝ้าแต่ละชนิดกันค่ะ
ฝ้าจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แน่นอนว่าผลการสำรวจที่กล่าวมาพบว่าฝ้าบนใบหน้าเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายนั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ที่เรียกว่า “Mark of pregnancy” หรือฝ้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในระหว่างวัยหมดประจำเดือน หรือฝ้าที่เกิดจากการทานยาที่มีผลต่อฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น ยากลุ่มฟีไนโทอีน และยากลุ่มไฮโดรควิโนน เป็นต้น การป้องกันหรือรักษาฝ้าที่เกิดจากการทานยานั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลข้างเคียงที่ได้รับโดยแพทย์อาจทำการหยุดยา หรือเปลี่ยนยาตัวอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงให้แทน ทั้งนี้ในส่วนของฝ้าที่เกิดจากเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์จะหาย หรือจางลงไปเองหลังการคลอดบุตร
ฝ้าจากแสงแดด เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าแสงแดดเป็นอันตรายต่อผิว จากรังสี UVA และ UVB ที่ส่งตรงมายังผิวหน้าของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รังสี UVA ที่มีความยาวคลื่นมากกว่าจึงส่งผลไปถึงชั้นผิวที่ลึกกว่า ทำให้เกิดทั้ง “ฝ้าแดด และกระ” ได้ในเวลาเดียวกัน การเกิดฝ้าแดดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ปริมาณแสงแดดที่ได้รับ และการผลิตเม็ดสีผิว (Melamine pigment) จากเซลล์เม็ดสีผิวใต้ผิวหนัง (Melanocytes) ของแต่ละคน เนื่องจากเม็ดสีผิวของเรามีหน้าที่กรองรังสีจากแสงแดด เมื่อเราได้รับแสงแดดมากเม็ดสีจึงผลิตมากขึ้นด้วย วิธีป้องกันฝ้าแดดได้ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเจอแสงแดดจัดๆ สวมเครื่องป้องกันแสงแดดเช่น ร่วม หมวก หรือทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ SPF 30 ขึ้นไปเพื่อป้องกันรังสี UVB และค่าป้องกันมากกว่า +2 ขึ้นไป เพื่อป้องกันค่า UVA
ฝ้าจากการแพ้เครื่องสำอาง การแพ้ดังกล่าวทำให้ผิวหน้าเกิดผื่นแดง หรือตุ่มเล็กเป็นวงกว้างบริเวณผิวหน้า มีการอักเสบบริเวณรูขุมขน เมื่ออาการเหล่านี้หายไปมักมีรอยดำเกิดขึ้นแทน โดยการป้องกันฝ้าลักษณะนี้แนะนำให้หยุดการใช้เครื่องสำอางชนิดนั้นๆทันทีเพื่อป้องกันการลุกลามและการกลับมาเป็นซ้ำ
ฝ้าแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจึงควรที่จะศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะเริ่มลงรักษา เพื่อให้การรักษาฝ้าของเราได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การรักษาฝ้าบนใบหน้าที่มีลักษณะเป็นฝ้าตื้น เราสามารถใช้สมุนไพรธรรมชาติมาช่วยบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง อาทิ การใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ได้แก่ หัวไชเท้า มะขามเปียก หรือแอปเปิ้ล บดหยาบมาพอกหน้าทิ้งไว้ 10-20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น ทำให้ฝ้าบนใบหน้าดูจางจงและผิวหน้ากระจ่างใสได้ หรือแม้แต่อาหารในครัวเรือน เช่นไข่ขาว ก็สามารถนำมาพอกหน้าบริเวณที่เป็นฝ้า ทิ้งไว้ 10-20 นาทีเพื่อดูดซับสิ่งสกปรกบริเวณใบหน้า อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรเป็นเพียงการบรรเทาอาการเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการรักษาฝ้าบนใบหน้าให้หายขาด หรือแก้ปัญหาฝ้าลึกควรทำอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยเฉพาะ
การรักษาฝ้าที่ได้ผลชัดเจน มีดังนี้
การรักษาด้วยยาทา
โดยส่วนใหญ่แพทย์มักสั่งยาที่มีส่วนประกอบของ กรดวิตามินเอ(Retinoic acid) ทรานีซามิก(Tranexamic acid) หรือไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้ผิวขาว และลดอาการอักเสบใต้ผิวหนัง แต่ยากลุ่มนี้มักก่อให้เกิดการระคายเคืองจึงต้องใช้ในปริมาณน้อยและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
การลอกผิวด้วยสารเคมี
วิธีนี้เหมาะกับฝ้าลึก และเป็นวิธีที่ต้องทำโดยแพทย์ผิวหนังเท่านั้น โดยแพทย์จะใช้กรดไตรครอโรอะซิตริก(Trichloroacetic acid) วิธีนี้สามารถพบอาการแทรกซ้อนหลักการทำ ทั้งด้านการติดเชื้อและแผลรอยดำ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด และบำรุงด้วยครีมที่เหมาะสม
การใช้เลเซอร์/แสง IPL
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านเลเซอร์ที่สามารถรักษาโรคของเม็ดสีผิดปกติ ทำให้ฝ้าดูจางลงอย่างรวดเร็วกว่าการทายา และลดผลข้างเคียงจากการรักษาฝ้าด้วยวิธีอื่น อาทิ การรักษาด้วย IPL (Intense Pulsed Light) เป็นการใช้คลื่นความถี่ของแสงยิงลงบริเวณที่เกิดฝ้าใต้ผิวหนังจนเกิดความร้อนที่สามารถทำลายโปรตีนของเม็ดสีผิวที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ผิวดูขาวขึ้น ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 2 สัปดาห์ เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 2-3 เดือน จะเห็นผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
การรักษาด้วยการทำ IPL และ เลเซอร์ มีความแตกต่างกันตรงที่ IPL ไม่ได้ลงไปทำลายเซลล์ผิว ช่วยรักษาปัญหาผิวอื่นๆได้ในการยิงครั้งเดียว สามารถทำได้ต่อเนื่องได้มากกว่าเลเซอร์
ทั้งนี้การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด บ่อยครั้งที่สามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการเกิดฝ้า จากการขาดวิตามินบี 12 หรือมีปัญหาอันเกี่ยวเนื่องจากสุขภาพตับ เราจึงควรใส่ใจในการดูแลสุขภาพเป็นอันดับแรกจึงเป็นการสวยจากภายในสู่ภายนอกค่ะ