การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิวมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาผิวด่างดำ และหยาบกร้านโดยวิธีการกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “การขัดขี้ไคล” นั่นเอง โดยปกติผิวหนังคนเราจะมีการผลัดเซลล์ผิว (Exfoliation) ทุก 2-3 สัปดาห์ และระยะเวลาผลัดเซลล์ผิวจะนานขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เราเรียกว่าขี้ไคลนั้นคือ เซลล์ที่หมดอายุแล้วซึ่งอยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอกสุด หรือหนังกำพร้า (Epidermis) มีความหนาประมาณ 1.5 – 4 มิลลิเมตร ซึ่งจะถูกเคลือบไว้โดย “ซีบรัม” (Zebrum) เพื่อทำหน้าที่เชื่อมเซลล์ผิวให้ติดกัน และป้องกันการสูญเสียน้ำจากเซลล์ มักจะพบได้มากในคนที่มีผิวหน้าที่จัดอยู่ในประเภท “ผิวมัน” (Oily skin) ในปัจจุบันเราจะพบว่า ร่างกายและใบหน้ามีความหมองคล้ำได้ง่าย เป็นเพราะมีปัจจัยเสริมอื่นมากระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวให้เร็วยิ่งขึ้น อาทิ แสงแดด มลภาวะที่ประกอบด้วย ฝุ่น ควันรถยนต์ ควันบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลโดยตรงกับอาการหน้าเป็นฝ้า มีจุดด่างดำ หรือริ้วรอยก่อนวัย

วิธีการผลัดเซลล์ผิวที่นิยมทำกันในเวลานี้

การกำจัดเซลล์ผิวที่หมดอายุบริเวณผิวหนังของร่างกายสามารถทำได้ง่าย โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสครับ ขัดวนบริเวณตามจุดข้อพับ และลูบให้ทั่วทุกบริเวณของร่างกายอย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อครั้ง หลังจากนั้นควรตามด้วย moisturizer ที่มีสรรพคุณในการเติมน้ำให้ผิวเพื่อ ทดแทนการสูญเสียความชุ่มชื้นบริเวณผิวชั้นนอกไป อย่างไรก็ตามสำหรับผิวหน้า การกำจัดเซลล์ผิวชั้นนอก ควรทำด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากเป็นผิวที่บอบบาง และมีผิวหนังที่ไวต่อสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย เช่น ดวงตา และริมฝีปาก ซึ่งหลายๆคนอาจจะเรียกวิธีเหล่านี้ว่า “การลอกหน้า (Peeling)” โดยเราสามารถที่จะใช้กรดผลไม้และวิธีการลอกหน้าในรูปแบบต่างๆเข้ามาเป็นตัวช่วยในการผลัดเซลล์ผิวของเรา

โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของเรานั้นจะมีการผลัดเซลล์ผิวที่หมดอายุในทุกๆ 2-3 สัปดาห์ เพื่อสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพไป

การผลัดเซลล์ผิวของร่างกาย

เซลล์ผิวหนังที่หมดอายุจะอยู่บริเวณชั้นนอกสุดของชั้นหนังกำพร้า โดยเราเรียกส่วนนี้ว่า “ชั้นสเตรตัม ครอเนียม (Stratum Corneum)” มีส่วนประกอบของ “เซลล์คีราติโนไซต์ (Keratinocytes)” ทำหน้าที่ผลิต “เคราติน (Keratin)” เพื่อเสริมโครงสร้างผิวให้แข็งแรงและมีความยืดหยุ่น ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งป้องกันความชุ่มชื้นจากการสูญเสียคอลลาเจนออกจากชั้นผิว เมื่อเซลล์ผิวหมดอายุความสามารถในการยึดเกาะจะน้อยลงจากการสูญเสียน้ำทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผิว จนเซลล์ผิวหลุดลอกออก
อย่างไรก็ตาม หากผิวของเราได้รับมลภาวะสะสมเป็นเวลานาน และไม่ได้มีการกำจัดออก หรือดูแลอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดริ้วรอยตามมาได้ ริ้วรอยดังกล่าวจะอยู่ลึกบริเวณ “ผิวชั้นหนังแท้ (Dermis)” ซึ่งประกอบไปด้วย หลอดเลือดขนาดเล็ก รากขน เส้นใยคอลลาเจน อีลาสติน ฯลฯ ดังนั้นหากเราต้องการรักษาอาการหน้าหมองคล้ำ ร่วมกับการมีริ้วรอยแล้วนั้น ควรปรึกษาสถานเสริมความงามหรือโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยเฉพาะ

การกำจัดเซลล์ผิวที่หมดอายุแล้วบริเวณผิวหน้านิยมทำใน 2 รูปแบบ

Physical peeling

เป็นการผลัดผิวโดยการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ และกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากวิธีดังกล่าวจะส่งผลกระทบลึงลงไปยังชั้นผิวแท้ (Dermis) เพื่อประโยชน์ที่ครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาริ้วรอยอีกด้วย โดยวิธีที่เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากได้แก่ “การทำ Dermabrasion” คือการกรอผิวหนังชั้นแท้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ การกรอดังกล่าวส่งผลให้ผิวหนังมีการถลอก เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวหนัง และเส้นใยคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ วิธีดังกล่าวผิวจะสร้างขึ้นใหม่ภายใน 7 วัน และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเนื่องจากเป็นช่วงที่ผิวอ่อนแอจากการฟื้นฟูผิวชั้นนอก ทั้งนี้เราสามารถเลือกครีมที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่เพื่อเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง อาทิ Vitamin E, Aloe vera, allium cepa หรือทาน vitamin C วันละ 2,000 มิลลิกรัม เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว และควรหลีกเลี่ยงครีมบำรุงที่มีกรดผลไม้ เช่น AHA ในขณะที่ผิวหน้าบาง อย่างไรก็ตามเรายังมีการกรอผิวหน้าที่ไม่ลงลึกในระดับชั้นผิวแท้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวเล็กน้อย ได้แก่ “การกรอหน้าด้วยเกร็ดอัญมณี (Microdermabrasion)” คือการกรอผิวชั้นนอกออกแค่บางส่วนด้วยเครื่องมือพ่น เกร็ดอลูมิเนียมไดออกไซด์บริสุทธิ์ 100% โดยผ่านการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง เกร็ดดังกล่าวมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายจึงไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ง่าย การกรอผิวด้วยเกร็ดอัญมณีนี้ จะช่วยลดรอยหมองคล้ำ ลดสิวอุดตัน และริ้วรอยเบื้องต้นได้

Chemical peeling

เป็นการผลัดเซลล์ผิวหน้าโดยการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุด อย่างไรก็ตามต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถควบคุมวงของบาดแผล และปริมาณ/ความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้ได้ การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีนี้สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่

การผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกสุด

ซึ่งก็คือขี้ไคล ลดการอุดตันของสิวเสี้ยน หรือน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า นิยมใช้การผลัดเซลล์ผิวด้วย TCA (Trichloroacetic Acid) ที่ความเข้มข้น 10-20% ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากใช้ได้ผลดีกับริ้วรอยและฝ้ากระที่ไม่มากเกินไป

การผลัดเซลล์ผิวชั้นหนังแท้ช่วงบน (Upper dermis)

ที่ระดับความลึกนี้ จะมีผลต่อโครงสร้างของเม็ดสีผิว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรังสี UV ทำให้เกิดริ้วรอย ขี้แมลงวัน (Lentigines) รวมไปถึงโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังระยะเบื้องต้น นิยมใช้ กลุ่มสารเคมีจำพวก BHA (Beta hydroxyl acid) ความเข้มข้นไม่เกิน 3% และ AHA(Alpha hydroxyl acid) ซึ่งสภาวะความเป็นกรด (pH < 7) และต้องมีความเข้มข้นมากกว่า 10% ขึ้นไปสารที่มีฤทธิ์เร่งผลัดเซลล์ผิว ช่วยให้รอยสิวดูจางลง และมีฤทธิ์สลายสิวอุดตันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การลอกผิวด้วยสารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและผิวลอกเป็นขุยได้ หากเกิดอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนความเข้มข้นของยา หรือชะลอการใช้ยา

การผลัดเซลล์ผิวชั้นลึก

นิยมใช้ CO2 laser resurfacing เนื่องจากปัญหาผิวเริ่มมีอาการรุนแรงจากการได้รับรังสี UV มากเกิน เกิดริ้วรอยบนใบหน้า หรือร่องแก้มลึก ผิวดูแก่ก่อนวัยอันเนื่องมาจากคอลลาเจนและอีลาสตินถูกทำลาย

การผลัดเซลล์ผิวโดยการเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็ควรที่จะทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

บางคนอาจสงสัยว่าเราสามารถผลัดเซลล์ผิวหน้าด้วยตนเองได้ไหม คำตอบคือได้ค่ะ เราสามารถใช้วิธีทางธรรมชาติเข้ามาช่วย อาทิ การ สครับหน้า ด้วยผลไม้ที่มีกรดวิตามิน ได้แก่ มะขาม แอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลส้ม ฯลฯ และการพอกหน้าด้วยผัก ผลไม้ที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น แตงกวา และมะเขือเทศ วิธีเหล่านี้ไม่มีอันตราย แต่อาจพบปัญหาระคายเคืองได้บ้าง ทั้งนี้ผู้เขียนขอย้ำว่าการลอกหน้าที่ดีที่สุดควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเราสามารถเห็นได้จากข่าวถึงกรณีการที่มีผู้ที่ลอกหน้า แล้วส่งผลกระทบให้หัวใจหยุดเต้น โดยได้รับสาร Phenol ที่มากเกินไป หรือบางกรณีที่นำน้ำแข็งแห้งมาช่วยในการทำลายชั้นผิวหน้าให้มีระดับลึกลงไปอีกด้วย เราจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจเลือกรับบริการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *