สฟิงโกลิพิด สารช่วยเติมความชุ่มชื้นให้กับผิว

ในปัจจุบันเครื่องสำอางจำพวก ครีม หรือ เซรั่ม ที่มีคุณสมบัติในการเติมน้ำให้ผิวกำลังเป็นกระแสนิยมอยู่ในขณะนี้ สาเหตุหนึ่งมาจากความร้อนจากแสงแดด และมลพิษจากฝุ่นควัน และลักษณะการดำเนินชีวิตที่ส่งผลให้ผิวหนังของเราสูญเสียความชุ่มชื้น และโดนทำลายอย่างต่อเนื่องจนผิวอยู่ในสภาพขาดการฟื้นฟูได้ทันท่วงที ซึ่งอาจแสดงปัญหาในรูปของริ้วรอย หรือความหย่อนคล้อยบริเวณผิวหนัง ความชุ่มชื้นจึงมีความสำคัญกับผิวหนังของเราอย่างมาก เป็นปัจจัยหลักขององค์ประกอบที่สมบูรณ์ของเซลล์ ส่งผลถึงความยืดหยุ่นของผิวหนัง ทั้งนี้ความชุ่มชื้นภายใต้ผิวหนังของเราสัมพันธ์กับปริมาณไขมันในร่างกายซึ่งแทรกซึมเป็นส่วนประกอบของทุกชั้นผิวหนังของเรา นอกจากทำหน้าที่เก็บกักความชุ่มชื้นแล้ว ยังทำหน้าที่ลดแรงกระแทกจากภายนอกที่จะทำอันตรายต่อเซลล์และอวัยวะภายในอีกด้วย

ผิวขาดความชุ่มชื้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดริ้วรอยบนชั้นผิวได้ง่าย ดังนั้นเราจึงควรดูแลผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

แหล่งไขมันที่จำเป็นในร่างกายของเรา มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยธาตุ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำแต่ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ แต่ยังมีไขมันบางชนิดที่สามารถละลายน้ำได้เล็กน้อย เช่น ฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) สฟิงโกลิพิด (Sphingolipids) ที่อยู่บริเวณชั้นผิวหนังกำพร้าที่เรียกว่า สตราตัม คอร์เนียม (Stratum corneum) มาจากการบริโภคไขมันจาก พืชและสัตว์ อาทิ เนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารประเภทถั่ว เมล็ดนุ่น และพืชน้ำมัน เช่น ปาล์ม มะพร้าว และมะกอก เป็นต้น

สฟิงโกลิพิด เกิดจาการรวมตัวของสารต่างๆดังนี้

– สฟิงโกซีน (sphingosine) หรือไดไฮโดรสฟิงโกซีน (dihydrosphin-gosine)
– กรดไขมัน (fatty acid) หนึ่งโมเลกุล
– อนุพันธ์น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอย่างน้อยที่สุดหนึ่งหน่วย อาทิ กรดไซอะลิก (sialic acid)
– เซราไมด์ (ceramide)

องค์ประกอบของสฟิงโกลิพิด

สฟิงโกลิพิดที่สำคัญได้แก่ สฟิงโกไมอีลีน (Sphingomyelin) กาแลกโทซิลเซอราไมด์ (Galactosyl ceramide) และกลูโคซิลเซอราไมด์ (Glucosyl ceraminds) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในเยื่อหุ้มเซลล์ของทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะที่สมองและเนื้อเยื่อประสาท มีส่วนช่วยในเรื่องความทรงจำ (สารสื่อสัญญาณสมอง) และทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของผิวเซลล์ที่บริเวณต้อนรับ (receptor site) ต่อสารพิษ สภาพแวดล้อม หรือฮอร์โมน เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านี้ ทำให้ในปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์สารที่เรียกว่า กลูโคซิลเซอราไมด์ (Glucosyl ceraminds) เพื่อเลียนแบบสารสังเคราะห์จากกลไกธรรมชาติของร่างกาย กลไกของโครงสร้างนี้ มีกลูโคสจับกับไพรมารี-ไฮดรอกซิลของเซอราไมด์ ด้วยพันธะไกลโคซิดิก กลูโคซิลเซอราไมด์เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ไกลโคลิพิดอื่นๆ จึงเป็นหนึ่งในไขมันที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้

สรรพคุณของสฟิงโกลิพิด

สารสังเคราะห์ดังกล่าวจะถูกเติมลงไปในเครื่องสำอางประเภท “ครีม หรือ “เซรั่ม” โดยกลไกการทำงานคือ เมื่อครีมหรือเซรั่ม ดังกล่าวซึมเข้าผิวหนัง จะถูกย่อย น้ำตาล (glucose) และ เซราไมด์ (ceramind) ทำให้เกิดสรรพคุณที่บำรุงและปกป้องผิวต่างๆดังนี้
– ช่วยรักษาระดับการซึมผ่านของน้ำภายในผิวหนังให้เกิดความสมดุล จึงรักษาความชุ่มชื้นใต้ผิวหนังได้เป็นอย่างดี
– สร้างความยืดหยุ่นให้แก่ผิว ส่งผลให้การเกิดริ้วรอยช้าลง
– เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสามารถรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย
– สามารถยับยั้งการสังเคราะห์ เมลานิน (Melanin) อันเป็นจุดกำเนิดของ ฝ้า กระ จุดด่างดำได้ดี ทั้งยังเป็นสารเพิ่มความกระจ่างใสให้แก่ผิวหนัง
– ฟื้นฟูผิวจากปัญหาผิวแห้งเสียรุนแรง ลดอาการบวม อักเสบ และเป็นขุย ส่งผลโดยตรงต่อผิวหนังชั้นนอกให้มีความชุ่มชื้น เนียนนุ่ม
ทางการแพทย์ได้นำคุณสมบัติของเซราไมด์ (ceramind) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ สฟิงโกลิพิด (Spingolipids) มารักษาอาการผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือ โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โดยตัวยาจะอยู่ในรูปของการรับประทาน หรือการทาลงบนผิวหนัง เพื่อช่วยแก้ปัญหาการลดลงของระดับเซราไมด์ในร่างกาย จากอายุที่เพิ่มมากขึ้น และจากมลภาวะที่เร่งเร้าในสภาพแวดล้อมปัจจุบันอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *