การฉีดฟิลเลอร์ คืออะไร และมีสิ่งใดบ้างที่เราต้องระมัดระวัง

เมื่อศัพท์คำว่า “เป๊ะ ปัง” กำลังมาแรง สร้างกระแสค่านิยมให้เราต้องมีหน้าวีเชฟ มีจมูกหยดน้ำ หน้าใส หน้าผาก หางตา ร่องแก้ม ต้องไม่ปรากฏริ้วรอย เหมือนเช่นพิธีกร หรือดารา นางแบบดังๆทั่วเมืองไทย ถึงแม้ในจิตใจส่วนลึกๆนั้นเราจะทราบกันดีว่า การรักษาสุขภาพ ทานอาหารอย่างสมดุลและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงจะเป็นการชะลอริ้วรอยแห่งวัยอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดีหากร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาทิ หน้าผากย่น ข้างแก้มตอบ ขมับตอบ มีร่องใต้ตา/แก้ม ก็ยากที่จะคืนสภาพปราศจากริ้วรอยได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่ปัญหาทางกรรมพันธุ์ อาทิ คางสั้น แต่ความกังวลเหล่านั้นได้ถูกขจัดออกไปด้วยนวัตกรรมความงามที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม ตามราคา วัสดุ การบริการ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่เราเลือกใช้กัน ในวันนี้เราจะมาพูดกันถึงกรณีที่ว่า หากอาทิตย์หน้าเราวางแผนนัดออกเดทกับแฟน ร่วมงานแต่งเพื่อนสนิท ถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง หรือต้องเป๊ะ ปัง ตามสถานการณ์ใดๆที่กำลังจะมาถึงแล้วล่ะก็ ตัวช่วยของเราคงหนีไม่พ้นการฉีด “ฟิลเลอร์ (Filler)” ฉีดปุ๊ป เป๊ะทันใจเลยทีเดียว แล้ว ฟิลเลอร์ที่ว่าคืออะไร อันตรายไหม และแก้ปัญหากวนใจของเราได้จริงไหม วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ไปด้วยกัน

“ฟิลเลอร์ (Filler)” คือสารเติมเต็มที่ใช้ฉีดเข้าบริเวณผิวหน้าชั้นลึกของร่างกายเพื่อเติมเต็มในส่วนที่บกพร่อง อีกทั้งสามารถช่วยยกกระชับใบหน้า คาง หรือแก้มได้อีกด้วย

สารฟิลเลอร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ฟิลเลอร์แบบชั่วคราว (Temporary filler)

มีอายุการใช้งานประมาณ 4-8 เดือน มีสารคอลลาเจน (collagen) เป็นส่วนประกอบหลัก จึงสามารถสลายไปเองได้โดยกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ยกเว้นในกรณีที่สารคอลลาเจนที่นำมาฉีดนั้น มาจากการสกัดจากพืช หรือสัตว์ ที่ส่งผลต่ออาการแพ้ของแต่ละบุคคล เรานิยมใช้ฟิลเลอร์ชนิดนี้เพื่อเติมเต็มริ้วรอยเล็กน้อย หรือปรับสภาพผิวหน้าให้เรียบเนียนยิ่งขึ้น

ฟิลเลอร์แบบกึ่งถาวร (Semi-permanent filler)

มีอายุการใช้งานประมาณ 24-30 เดือน ส่วนประกอบหลักของฟิลเลอร์ชนิดนี้คือ สารจำพวก “กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic acid)” สกัดมาจากการหมักบ่มแบคทีเรีย Streptococcus ซึ่งสามารถทดแทนสาร “ไฮยารูลอน” ที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองจากอาหารประเภทโปรตีนที่รับประทานเข้าไป สารนี้จะทำหน้าที่เหมือนกาวเชื่อมคอลลาเจน ช่วยอุ้มน้ำและลดอาการช้ำจากแรงกระแทกภายนอก โดยปกติเราสามารถพบสารนี้ในน้ำข้อกระดูก และผิวหนัง ดังนั้นการที่เรานำฟิลเลอร์ที่มีสารจำพวก“ไฮยาลูโรนิคแอซิด”มาใช้จึงไม่ก่อเกิดอาการแพ้แก่ร่างกายของเรา เรานิยมใช้ฟิลเลอร์ชนิดนี้เพื่อยกกระชับใบหน้า หรือเติมเต็มร่องแก้มลึก เนื่องจากมีความหนาแน่นของตัวฟิวเลอร์ค่อนข้างมาก การฉีดจะลงลึกถึงชั้นผิวชิดกระดูกเพื่อการยกกระชับที่ได้รูปตามที่ต้องการ

ฟิลเลอร์แบบถาวร (Permanent filler)

มีอายุการใช้ที่คงที่ ในกรณีนี้หากต้องการนำฟิลเลอร์ชนิดถาวรออกต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ผ่าตัดและขูดออกจากชั้นกล้ามเนื้อกันเลยทีเดียว โดยฟิลเลอร์ชนิดถาวรนี้มีองค์ประกอบหลายประเภทอาทิ สารสังเคราะห์จำพวกอะคิริก (Polymethylmethacrylate) สารสังเคราะห์จำพวกกระดูกและฟัน (Calcium Hydroxylapatide) หากใครต้องการฉีดฟิลเลอร์แบบถาวรควรหาข้อมูลให้ครบถ้วน และปรึกษาแพทย์ผู้ทำการฉีดให้แน่ใจก่อน เพราะการปรับรูปหน้าหรือแก้ไขหลังจากฉีดแล้วทำได้ยากมาก
มาถึงอาการหรือผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์กันบ้าง โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพียงแค่คุณเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญ สารฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐาน และสถานที่สะอาดปลอดเชื้อโรค รวมทั้งมีความรู้ในการเตรียมและรักษาตัวหลังจากการฉีดฟิลเลอร์ก็สามารถหลีกไกลจากปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว

ผลข้างเคียงการฉีดฟิลเลอร์ที่อาจะเกิดขึ้นได้

อาการติดเชื้อจากการฉีดฟิลเลอร์

ซึ่งการติดเชื้อนั้นนอกจากต้องระวังเรื่องความสะอาดจากสถานพยาบาลและอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว ผิวหนังของเรายังต้องสะอาดอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเริม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว หากเราเป็นผู้มีประวัติเคยติดเชื้อเริมควรปรึกษาแพทย์เพื่อทานยาต้านไวรัสก่อนทำการฉีดอย่างน้อย 7 วัน

อาการแดง ช้ำ เขียว หรือบวม

อาการเหล่านี้มาจากการที่เส้นเลือดฝอยบริเวณผิวหนังแตก ซึ่งสามารถพบได้เป็นปกติหลังจากการทำหัตถการทางการแพทย์ หากอาการดังกล่าวไม่หายไปและเกิดอาการผิวหนังตึงและมีเส้นเลือดฝอยชัดขึ้น เราเรียกอาการดังกล่าวว่าภาวะ telangiectasia เราสามารถรักษาให้หายขาดโดยการใช้ IPL (Intense Pulse Light) ที่ความยาวคลื่น 595 นาโนเมตรเป็นต้นไป

อาการนูน หรือคลำผิวหน้าแล้วพบว่าเป็นก้อนบริเวณที่ฉีด

ในกรณีนี้ควรรอหลังจากการทำ 1-3 สัปดาห์แล้วจึงไปพบแพทย์ เนื่องจากในระยะแรกฟิลเลอร์จะใช้เวลาในการสมานร่วมกับชั้นผิว เพื่อให้เกิดความเรียบเสมอกัน

อุบัติเหตุจากการฉีดฟิลเลอร์เข้าบริเวณหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ

โดยปกติเราพบอาการดังกล่าวได้น้อยมาก เนื่องจากหลอดเลือดในร่างกายของคนเรามีแรงดันเลือดค่อนข้างสูง การอุดตันหลอดเลือดแดงจะเห็นผลใน 3-6 ชม.แรกหลังการฉีด โดยผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีซีดจากการที่ฟิลเลอร์ไปอุดตันบริเวณเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงผิวจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นตาย แต่ในกรณีที่ฟิลเลอร์ไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำนั้นอาจเกิดอาการที่เชื่อมโยงไปยังส่วนอื่นๆเช่น การฉีดฟิลเลอร์เข้าไปบริเวณหัวคิ้วเพื่อลบรอยย่น หรือฉีดบริเวณปลายจมูกเพื่อแก้ไขทรงเป็นจมูกหยดน้ำ ซึ่งฟิลเลอร์อาจไปอุดตันบริเวณเส้นเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาอาจทำให้ตาบอดได้ อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 6-7 ชม.หลังการฉีด

ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์เหล่านี้อาจเกิดจาก สารที่ไม่ได้มาตราฐาน ความสะอาดของเครื่องมือต่างๆ และความเชี่ยวชาญของแพทย์

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะพบว่าการฉีดฟิลเลอร์เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ในขณะเดียวกันก็ควรเพิ่มความระมัดระวัง และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติให้มากขึ้น หากใครที่ตัดสินใจฉีดไปแล้วก็ควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้วขึ้นไปเพื่อเพิ่มคอลลาเจน และเติมน้ำให้ชั้นผิว งดการทำเลเซอร์ ซาวน่า หรือการนวดหน้าทุกชนิดเนื่องจากอาจเกิดการอักเสบได้ รวมทั้งควรงดการใช้ครีมหรือสารเคมีที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ AHA หรือ การกรอผิวหน้าเนื่องจากเป็นการรบกวนผิวหน้ามากเกินไปและอาจเกิดการระคายเคืองขึ้นได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *